อาทิตย์ก่อนพิมมีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมดี ๆ กับเวิล์ดแก๊สมาอีกแล้วค่ะ กิจกรรมนี้ชื่อว่า "เมนูเดียวก็รวยได้" กับคลาสสอนทำขนมดอกจอก และวิธีการเพิ่มมูลค่าให้กับขนมดอกจอกนะคะ
โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนเหมือนเดิมค่ะ แต่กิจกรรมครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งที่ผ่าน ๆ มาแบบคนละเรื่องเลย เพราะว่าครั้งนี้เราไม่ได้มานั่งฟังเชฟบรรยายเพียงอย่างเดียว แต่เราจะได้ลงครัวร้อนทำขนมไทยกันด้วยนะคะ (ว้าววว.ว..ว.ว.ว) โดยมีเชฟฮูโต๋ เชฏฐ์ภูชิชย์ เถกิงศักดิ์ เชฟชื่อดังมาเป็นวิทยาการสอนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนทำขนมไทยที่ชื่อว่า "ขนมดอกจอก" แถมยังสอนวิธีการเพิ่มมูลค่าให้กับขนมดอกจอกอีกด้วย ส่วนรายละเอียดจะเป็นยังไง ตามพิมมาเลยค่า
เริ่มกันที่ช่วงแรกของกิจกรรม ..... เชฟฮูโต๋ก็จะมาบรรยายถึงความเป็นมาของอาหารไทย และขนมไทยนะคะ ว่าขนมไทยอาหารไทยในยุคแรก ๆ เนี่ยเป็นแบบไหน แต่ละช่วงยุคสมัยเค้ามีการทำขนมไทยอาหารไทยอะไรบ้าง แล้วขนมหรืออาหารประเภทไหนที่เรียกว่าเป็นของไทยแท้ ๆ หรืออันไหนที่รับอิทธิพลมาจากต่างชาติบ้างอ่ะค่ะ
จากนั้นเมื่อบรรยายเสร็จก็ถึงช่วงเข้าครัวนะคะ ซึ่งวันนี้เราก็จะมาเรียนรู้วิธีการทำขนมดอกจอก และวิธีการแต่งตัวขนมดอกจอกเพื่อเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตัวขนมค่ะ
โดยขนมดอกจอกที่เชฟฮูโต๋นำมาสอน ก็จะมีสูตรตามด้านล่างนี้นะคะ
แป้งข้าวเจ้า 350 กรัม
แป้งมัน 50 กรัม
น้ำตาลทรายแดง 190 กรัม
น้ำปูนใส 250 กรัม
หัวกะทิ 250 กรัม
ไข่ไก่ 2 ฟอง
งาขาว/ ดำคั่ว ปริมาณตามชอบ
น้ำมันสำหรับทอด
วิธีทำก็ไม่มีอะไรยุ่งยากเลย ให้เราหยิบอ่างผสมใบใหญ่ ๆ มาสักใบค่ะ แล้วใส่ส่วนผสมที่เป็นของแห้ง (แป้งทั้งสองอย่าง น้ำตาล) และไข่ไก่ลงไป คนให้เข้ากันดี ก็ทยอยใส่หัวกะทิที่ผสมกับน้ำปูนใสตามลงไป ค่อย ๆ คนให้เข้ากัน จนแป้งละลายหมดก็ใส่งาดำงาขาวลงไปมากน้อยตามชอบนะคะ จากนั้นพักแป้งไว้สักพักประมาณ 15 นาที พอแป้งได้ที่ เราก็เริ่มทอดกันได้เลยค่ะ
ส่วนวิธีการทอด ก็ไม่ยากเช่นกันนะคะ ให้เราใส่น้ำมันลงในกระทะปริมาณเยอะหน่อย กะว่าสูงสัก 4 นิ้วค่ะ จากนั้นก็วางพิมพ์ขนมดอกจอกลงไปตรงกลางกระทะ เปิดไฟกลาง ๆ พอพิมพ์ร้อนดี ก็ยกพิมพ์ออกจากกระทะ มาจุ่มลงในแป้ง แล้วยกพิมพ์ที่ติดแป้งกลับลงไปแช่ในน้ำมันร้อน ๆ ที่อยู่ในกระทะอีกที เพื่อทอดแป้งให้สุก จังหวะนี้เราก็จะส่ายพิมพ์เล็กน้อย เพื่อให้แป้งหลุดออกจากพิมพ์ แล้วก็ทอดไปเรื่อย ๆ จนแป้ง (ขนม) เหลืองกรอบ ก็จะได้ออกมาเป็นขนมดอกจอกสีเหลืองทองอย่างในภาพด้านล่างนะคะ
ซึ่งขอบอกเลยว่าขนมดอกจอกสูตรนี้อร่อยมาก ตัวแป้งกรอบ สีสวย และหวานกำลังดี กินเล่น ๆ อร่อยมากเลยค่ะ แต่เชฟฮูโต๋เค้าก็บอกว่าถ้าใครอยากเพิ่มมูลค่าให้ขนมชนิดนี้ ก็สามารถเอาไปชุบกับช๊อคโกแลต (คอมพาวด์/โค้ทติ้ง) และโรยเกล็ดน้ำตาลเพิ่มได้นะคะ จากขนมชิ้นละ 5 บาท ลงทุนเพิ่มแค่ 2-3 บาท ก็อาจจะกลายเป็นขนมชิ้นละ 10 บาทก็ได้ค่ะ ^_^
และเชฟยังแนะนำอีกว่าตัวขนมดอกจอก นอกจากจะเอามากินเพลิน ๆ เป็นขนมหวาน เอาไปชุบช๊อคโกแลตเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มได้แล้ว ก็ยังสามารถเอาไปกินกับสลัดแทนพวกขนมปังกรอบ (กรูตอง) ได้อีกนะคะ เพราะงั้นเชฟเค้าก็เลยสอนวิธีทำน้ำสลัดหลากรสไม่ว่าจะเป็นฟักทอง แครอท บีูทรูท และอโวคาโดให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วยค่ะ
โดยวิธีการทำน้ำสลัดแต่ละชนิดก็ไม่มีอะไรยุ่งยากนะคะ (เชฟสอนได้เข้าใจง่าย ทำให้ไม่มีอะไรยากเลย ^_^) .... ให้เราหยิบโถปั่นมา 1 โถ ใส่พวกน้ำส้มสายชู น้ำตาล นมข้นหวาน และผักผลไม้ลงไป (ทีมพิมพ์ได้เป็นอโวคาโด) ปั่นให้เนียน ก็ค่อย ๆ ทยอยใส่น้ำมันลงไปจนข้น และปรุงรสด้วยเกลือกับมัสตาร์ด ให้ได้รสที่ชอบ ก็โอเคแล้วค่ะ ^_^
และในช่วงสุดท้ายก่อนที่กิจกรรมจะจบลง เชฟก็ได้ให้โอกาสผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ได้จัดกล่องสลัดผักของตัวเองเพื่อเอากลับไปทานกับขนมดอกจอก และน้ำสลัดที่ทำไว้นะคะ
งานนี้พิมก็ต้องขอขอบคุณเวิล์ดแก๊ส ขอบคุณเชฟฮูโต๋ และขอบคุณทีมงานทุกคน ที่ร่วมด้วยช่วยกันจัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ขึ้นมาค่ะ เพราะนอกจากเราทุกคนจะได้รับความรู้เรื่องความเป็นมาของอาหารไทย ขนมไทย และได้ลงมือทำขนมดอกจอก น้ำสลัดด้วยตัวเองแล้ว เราก็ยังมีโอกาสได้รู้จักเพื่อนใหม่ ๆ ที่มาร่วมทำกิจกรรมนี้ด้วยกันอีกนะคะ และถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะให้ทางเวิล์ดแก๊สจัดกิจกรรมดี ๆ อย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ค่ะ
สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่สนใจอยากเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ ก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดและติดตามกิจกรรมใหม่ ๆ ได้ที่ที่เพจ >> เวิล์ดแก๊ส << เลยจ้า